คุณรู้จัก blog นี้ได้อย่างไร

คำแนะนำ

วันศุกร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน


ประเทศไทยยังไม่ถึงคราวตกอับ ยุคที่เลวร้ายสุดๆ ก็จะมีคนดีๆ อาสาเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ แต่ก็อย่านิ่งนอนใจเสียทีเดียว เพราะคนไม่ดี มักมีพลังและกลยุทธ์เหนือกว่าคนดีอยู่เสมอ ดูซิประเทศไทยก็ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านกลิ่นคาวของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ผ่านความโกลาหลก็หลายครั้ง เพราะไปพัฒนากันผิดทางหรือเปล่า เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐบาลทุกสมัยต่างใช้นโยบายบริหารประเทศ พารัฐนาวารูปขวานเล่มทอง ไปตามแนวนโยบายเศรษฐกิจ แบบทุนนิยม-บริโภคนิยม (Mass consumption) โดยอาศัยระบอบการปกครองประชาธิปไตยแบบนับหัว (Mass democracy) เป็นกลไกในการบริหารประเทศมาตลอด

เห็นหรือยัง ว่าส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาวะโดยรวมของประชาชนไปมากมายเท่าไหร่แล้ว นับตั้งแต่ การผลาญพร่าทรัพยากรอย่างกว้างขวาง สุขภาพร่างกายของประชาชนโดยรวมทรุดโทรมลง สภาพจิตใจของประชาชนตกต่ำไร้ความสุข ความละอายและเกรงกลัวต่อความชั่วลดลง ผู้คนมีความเห็นแก่ตัวเพิ่มขึ้น ศีลธรรมถดถอย เห็นการเอารัดเอาเปรียบ และการคดโกงเป็นความชอบธรรม สื่อมวลชน และการสื่อสารมวลชน ตกอยู่ภายใต้อำนาจ และอิทธิพลที่ไม่ชอบธรรม ระบบการศึกษาก็ไม่ช่วยให้คนฉลาดขึ้นเลย

ดังนั้น การพัฒนาประเทศแนววัตถุนิยม หรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยม กับวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ ประชาธิปไตยดังที่เป็นอยู่ ได้สร้างปัญหาทางสังคมที่สลับซับซ้อนขึ้น

รากเหง้าของปัญหาของมนุษย์ เกิดจาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ (1) เกิดความต้องการแล้วสนองตอบไม่เพียงพอ และ (2) เกิดความต้องการแล้ว และแม้สนองตอบเพียงพอแล้ว ก็ยังเกิดความต้องการอีกไม่สิ้นสุด สรุปใจความว่า การสนองตอบความต้องการนั้นไม่ใช่หนทางทำให้ปัญหาของมนุษย์หมดไป เพราะเป็นวิธีการไล่ตามหลังปัญหา จึงอนุมานได้ว่า "ความต้องการ" นี่แหละคือ "ตัวปัญหา" ที่แท้จริง หาใช่ "การสนองตอบ" ไม่ ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาของมนุษย์นั้นผิดมาตั้งแต่ต้น
Stop Mass Consumption - Start Sufficient Lifestyle

จากสมการ ที่ว่า "ทุกข์-ปัญหาชีวิต = ความต้องการ / การสนองตอบความต้องการ" อธิบายได้ว่า "ความต้องการ" แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ความต้องการพื้นฐาน เช่น ต้องการเครื่องใช้ปัจจัยสี่ สวัสดิภาพในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ส่วนความต้องการส่วนเกิน ก็คือต้องการสิ่งที่ปรุงแต่งความรู้สึกที่หรูหรา อลังการ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า ของใช้ บ้าน และการรักษาพยาบาลก็ตาม ทั้งหมดทำให้เกิดแนวคิดในการตอบโจทย์ปัญหาความทุกข์ แตกแยกออกเป็น 2 แนวทาง คือ
แนวทางที่ 1 "สนองตอบความต้องการส่วนเกิน + เพิ่ม ความต้องการส่วนเกิน" วิธีคิดแบบนี้มุ่งสร้างกระแสหรือกระตุ้นความอยากที่เป็นส่วนเกินของมนุษย์ เพื่อให้เกิดกระบวนการคิด กระบวนการผลิต ให้ได้มาซึ่งวัตถุ สิ่งของ เครื่องอำนวยความสะดวก ด้วยการใช้กลยุทธ์ ในการสื่อสารหลากหลายวิธี ที่จะหลอกล่อ มอมเมา ทั้งใช้อำนาจบังคับ ทั้งสร้างกระแสนิยม ทั้งรณรงค์ ตลอดจนทุ่มงบประมาณ ในการแข่งขันการสื่อสารทางการตลาด สุดแล้วแต่จะสรรหา วิธีการมาใช้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า สิ่งที่พูดพ่นปนกันออกมาทางสื่อนั้น เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้ผู้คนบริโภคสิ่งของเหล่านั้นในปริมาณมากๆ (mass consumption) อันเป็นหนทางในการสร้างผลกำไร ให้แก่ผู้ประกอบการ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนทรัพยากรที่ร่อยหรอลงไป
แนวทางที่ 2 "ลด ความต้องการส่วนเกิน + สนองตอบความต้องการด้านสวัสดิภาพของชีวิตและทรัพย์สิน" บรรดาความสุข ความทุกข์ทั้งหลาย มันมีธรรมชาติของมัน คือเกิดขึ้นแล้ว สักพักก็ดับสลายไป ไม่ใช่ของเที่ยงแท้แน่นอน มันเป็นเพียง "ความรู้สึกสุข" หรือ "ความรู้สึกทุกข์" จึงเป็นส่วนเกินของชีวิตแน่ๆ ที่จะต้องกำจัดไปเสียให้พ้นๆ ส่วนความทุกข์อันเกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย ความกังวลใจอันเนื่องมาจากภัยต่างๆ เช่น โจรภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยจากอาชญากรรมต่างๆ อันนี้ไม่ใช่ความต้องการส่วนเกิน แต่เป็นสวัสดิภาพที่มนุษย์สมควรได้รับการคุ้มครอง จากผู้นำหรือผู้ที่เป็นหัวหน้า จะต้องตอบสนองมิให้พวกเขาเกิดความกลัว หรือได้รับภัยอันตรายที่กำลังจะเกิด หรือเกิดขึ้นแล้ว

วิธีคิดแบบแนวทางที่ 2 ดูจะสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากที่สุด ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิใช่แนวคิดที่แปลกแยก หรือปิดกั้นการพัฒนาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และมิใช่ศัตรูกับระบบทุนนิยมตะวันตก แต่จะเป็นสิ่งเกื้อหนุนให้คนในโลกอยู่ร่วมกันและอยู่รอดได้อย่างผาสุก
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทย คนไทย ควรจะเข็ดหลาบกันเสียทีกับการเดินผิดทาง ก่อนที่ลูกหลานไทยในอนาคตจะเป็น "คนกลายพันธุ์" จากที่เคยพึ่งพา และผูกพันกับเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ กลายเป็น พึ่งพาวัตถุและเทคโนโลยี แล้วจะพบความสงบสุขได้จากที่ไหน เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ส่วนวัตถุต่างๆ มันไม่มีชีวิตจิตใจ
ก็นับว่ายังโชคดี ที่ไม่ถลำตัวไปมากกว่านี้ ต่อจากนี้ไป ก็ต้องช่วยกันเยียวยาบาดแผลต่างๆ โดยเฉพาะบาดแผลอันร้าวลึกที่เกิดแก่เยาวชนของประเทศเมืองพุทธแห่งนี้ อย่าให้หลงและถลำตัวไปกับลัทธิเอาอย่าง ลัทธิบ้าบริโภคอีกต่อไป
สร้างคนดี ให้คนดีไปสร้างชาติ
สถานศึกษา เป็นที่รวมของคนดี มีแบบอย่างที่ดีให้ "ลอกเลียน" และ"เรียนรู้" ตั้งมากมาย จงเป็นผู้ "สู่รู้" แต่ในสิ่งที่ดี ส่วนสิ่งที่ไม่ดี ก็อย่าไปสู่รู้มันเลย ประตูมหาวิทยาลัย เปิดไว้ต้อนรับคนที่พร้อมจะมาซักฟอกเอาความไม่รู้ (อวิชชา) ออกไป แล้วเอา "ความรู้" "ความดี" ใส่เข้าไปในจิตวิญญาณและฟูมฟักความรู้ ความดีเหล่านั้น ให้เป็น "ความงาม" ให้แก่ชีวิต ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีภารกิจและบทบาทหลัก 3 ประการ คือ
(1) "สร้างคน" คือจัดการเรียนการสอน เพื่อผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคม
(2) "ค้นคว้าวิจัย" คือศึกษาวิจัย ผลิตตำราสำหรับนักศึกษาและประชาชน
(3) "ให้บริการสังคม" รวมทั้งส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรมด้วย
ภารกิจทั้งสามประการ สอดคล้องกับแนวศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยิ่ง ด้วยการนำกระบวนการจัดการความรู้ มาเป็นเครื่องมือสร้างองค์ความรู้ต่างๆ คือ (1) เรียนรู้จากการปฏิบัติ (2) พัฒนาศักยภาพ จากการเรียนรู้และปฏิบัติจริง
สิ่งที่ต้องเรียนรู้ ก็เริ่มที่เรียนรู้ชีวิต และเป้าหมายของชีวิต ว่าชีวิตคืออะไร เกิดมาทำไม สิ่งที่ปรารถนาสูงสุดของชีวิตคืออะไร ที่จะนำพาไปสู่ความดีงาม ความถูกต้อง สิ่งที่เป็นแบบฝึกหัดให้ปฏิบัติ คือ สถานการณ์จริง และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน สถานที่สำหรับฝึกหัดเรียนรู้ที่ดีที่สุด ก็คือตัวของผู้เรียนเองนั่นแหละ (ถ้ารู้จักตัวเองมากเท่าไร ก็จะรู้จักคนอื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ "ความอยาก" นั่นแหละตัวปัญหาละ) การเรียนรู้จากองค์กรที่ผู้เรียนสังกัดเป็นสมาชิกอยู่ จะทำให้ชีวิตเกิดความสงบสุข ความสามัคคี ความมีน้ำใจ.
ยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ในการพัฒนาสังคม*
(1) "สังคมไม่ทอดทิ้งกัน" ด้วยการสร้างภราดรภาพให้เกิดขึ้น รื้อฟื้น "น้ำใจ" ให้ไหลหลั่ง ให้พรูพรั่งท่วมท้น โถมทับ "น้ำเงิน" ที่พาคนหลงเพลิน หลงเสพ หลงยึด จนเป็นบ่อนทำลายวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม และคอยกัดกร่อนทุนทางสังคมลงไปทุกวันๆ
(2) "สังคมเข้มแข็ง" คือ การส่งเสริมให้สมาชิกและชุมชน สามารถจัดการตนเอง พึ่งตนเอง ร่วมกันสร้าง ผลิต เพื่อใช้สอยในชุมชนก่อน เป็นกิจกรรมที่บูรณาการเอาความรัก ความดี ความเป็นภราดรภาพ (พี่น้อง) และความรู้ที่มีอยู่ในชุมชน ไปบริหารจัดการตนเอง ให้มีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงและมีความผาสุก
(3) "สังคมคุณธรรม" สังคมอุดมปัญญา ซึ่งข้อนี้คือภารกิจอันสำคัญของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ควรบรรจุไว้ในหลักสูตรกันเลยทีเดียว
ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการผสานความร่วมมือจากองค์กรภาคี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคธุรกิจ กลุ่มภาคประชาสังคม และกลุ่มภาครัฐ (ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค) โดยแสวงจุดร่วมกันตรงที่ ภาคธุรกิจที่เคยมุ่งแสวงกำไร ก็ให้ "ลด" กำไรลง และคืนไปให้แก่สังคมบ้าง เพื่อเป็นการตอบแทนพื้นที่ ตอบแทนทรัพยากร ตอบแทนเวลาและความรัก ที่ตนเคยไปเบียดเบียนและแสวงประโยชน์เอามา ภาคประชาสังคม จะเป็นผู้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็ง จากการเรียนรู้ และรวมพลังกัน โดยที่ภาครัฐจะเป็นเพียงผู้คอยให้การสนับสนุน เปิดโอกาสให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินไปภายใต้การจัดการดูแล และพึ่งพาตนเองของชุมชน รัฐจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือใช้อำนาจจัดการใดๆ
ทั้งหมดที่กล่าวไปนี้ เป็นทั้งตัวเร่ง และตัวเสริมให้คุณธรรม ดำรงอยู่ต่อไป เพื่อให้การใช้ชีวิตพอเพียง เป็นมาตรฐานใหม่ของลูกหลานไทย แล้วเรื่องปราบปรามอบายมุข ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ส่วนในรั้วมหาวิทยาลัย ก็มีกิจกรรมให้ทำตั้งมากมาย เช่น "รักน้องจริง อย่าชวนน้องดื่ม น้องเป็นปลื้มถ้าพี่ไม่ดื่มไม่สูบ" หรือจะวิธีนี้ "เมาไม่ขับ" ถ้าทำได้แล้วก็ขยับไปเป็น"งดเหล้า เข้าพรรษา" หรือไม่ก็ "สวมใส่มิดชิด เพื่อชีวิตพอเพียง" ฯลฯ
มหาวิทยาลัย คือสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ต่างไปจากวัดหรือธรรม-สถาน ดังนั้น ทุกคนควรเห็นคุณค่าและความสำคัญ หันมาร่วมกันพัฒนาทั้งคุณภาพและคุณธรรม ใช้ชีวิตพอเพียง หลีกเลี่ยงอบายมุขให้ได้ จึงจะเป็นผู้มีคุณธรรมนำใจอย่างแท้จริง อย่าทำลายสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้กันเลย เพราะถ้ามหาวิทยาลัย กลายเป็นที่ซ่องสุมคนไม่ดี ทั้งขี้เกียจขี้โกง คงต้องเปลี่ยนชื่อเรื่องเสียใหม่เป็น "จะสร้างคนดี เริ่มที่ครอบครัว จะปราบคนชั่ว เริ่มที่มหาวิทยาลัย" ฟังแล้วบอกตรงๆ ว่า "รับ - ไม่ - ได้" จริงๆ.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น